วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

7 อุปนิสัยสู่ความสำเร็จ

 นิสัยแห่งความสำเร็จ 7 ประการ Stephen Covey เชื่อว่า คนที่ต้องการประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตอย่างแท้จริง จะต้องเริ่มจากการปลูกฝังนิสัยที่ถูกต้องให้กับตนเองก่อน ความสำเร็จต้องเกิดจากการเปลี่ยน แปลงจากภายใน (inside-out) ไม่ใช่จากการใช้เทคนิคต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้มาจากความคิด ความเชื่อของเราจริง ๆ หากบุคคลคน ๆ หนึ่งเลียนแบบแค่เทคนิคการใช้อำนาจของผู้นำ การใช้น้ำเสียง การแบ่งแยก แล้วปกครอง ในขณะที่เขาขาดนิสัยภายใน เช่น ความกล้าหาญ ความเสียสละ และการตัดสินใจที่ดี ในที่สุดลูกน้องหรือคนภายนอกก็ย่อมจะมองออกอยู่ดี ไม่ช้าก็เร็ว ว่าเขาขาดความเป็นผู้นำ
ดังนั้น ความสำเร็จที่จีรังยั่งยืนจะต้องเกิดขึ้นจากการปลูกฝังนิสัยภายใน อันเป็นนิสัยที่จะเกื้อกูลให้เรามีความสำเร็จ เป็นสุข ซึ่ง Covey เห็นว่ามีอยู่ 7 ประการด้วยกัน คือ

1. นิสัย Proactive หรือ "การรู้และเลือกด้วยตนเอง"

 หมายถึงการไม่ยอมให้จิตใจของเราตกอยู่ใต้อิทธิพลของความเคยชินเดิม ๆ การไม่ตกเป็นทาสประสาทสัมผัสทั้ง 5 การไม่ถูกครอบงำ เราจะต้องเป็นผู้คิดตัดสินใจ และเลือกทุกอย่างอย่างมีสติด้วยตนเอง

2. Begin with the End in Mind หรือการมีเป้าหมายที่ชัดเจนแน่นอน

คนเราจะทำอะไรได้จนเป็นผลสำเร็จจะต้องมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนแน่นอนไว้ในใจเสียก่อน แต่มนุษย์เราต้องมีเป้าหมายในใจด้วยว่า ตนนั้นต้องการเป็นคนที่มีนิสัยอย่าง ไร มีความคิดความเชื่ออย่างไร และมีหลักการอะไรที่สำคัญต่อ Covey แนะนำให้เราเลือกหาใส่ไว้ในใจคือ หลักการต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตและภาพลักษณ์เกี่ยวกับนิสัยที่เราต้องการ เช่น ความซื่อสัตย์ จริงใจ จะไม่ยอมให้ลาภ ยศ เงินทอง ชื่อเสียง มามีอำนาจเหนือคุณสมบัติข้อนี้ได้ มองโลกในแง่ดี เมตตากับคนที่อยู่ในฐานะ ที่ด้อยกว่า ให้ความสำคัญกับความสงบภายในมากกว่าวัตถุ นิสัยอื่น ๆ ที่ท่านต้องการ

ในฐานะเราเป็น Programmer เริ่มเขียน software ให้ตนเอง Software ข้างต้นจะทำให้เราเป็นคนใช้ชีวิตอย่าง มีหลักการ (principle-centered) ทำให้เรามีเครื่องนำทางชีวิต มีแสงสว่างแห่งปัญญา ช่วยให้เรามีวิจารณญาณที่ดี จะคิดอะไร ทำอะไรก็มีพลังเพราะรู้ว่าเรากำลังทำตามหลักการที่เราเลือกด้วยตนเอง หลักการเหล่านี้จะบอกเราเองว่าเราจะเป็นผู้นำแบบไหน จะเลือกใช้เวลาอย่างไร จะเลี้ยงลูกอย่างไร ในแง่การประกอบอาชีพ เราก็จะรู้ว่าจะวางตัวอย่างไรในอาชีพที่เราเลือก

3. First Thing First หรือการบริหารเวลาให้ถูกต้อง

Covey เห็นว่าคนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่เป็นเรื่องด่วน หรือไม่ก็ใช้เวลาไปกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่คนที่มีปัญญา จะต้องใช้เวลาให้มากกับเรื่องที่ไม่ด่วน แต่มีความสำคัญ อันได้แก่ การวางแผน และคิดยุทธศาสตร์ การคิดถึงอนาคต และการคิดป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นแทนที่จะไปไล่ตามแก้ไขปัญหาทีละข้อ

4. นิสัยการคิดแบบ win/win

คือการมีความคิด มีการกระทำที่ตั้งอยู่บนหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ให้คนอื่นด้วย ไม่ใช่คิดแค่ผลประโยชน์ของตน และสนใจแต่ความคิดของตนเองโดยไม่แคร์ความรู้สึกของคนอื่น การมองโลกแบบ win/win เป็นพื้นฐานสำคัญของการไว้วางใจซึ่งกันและกัน (trust) เกี่ยวกับโลกนี้ Covey เห็นว่า ชีวิตคนเราเสียเวลาไปมากมายที่จะแก้ไขความเข้าใจผิด ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งระหว่างบุคคลในที่ทำงาน ในครอบครัว นอกจากนี้ คนเรายังเสียเวลาไปมากกับการเรียนรู้ศาสตร์ แห่งการเป็นผู้นำ การพูด การเจรจา เพื่อทำให้คนอื่นเข้าใจเรา ยอมทำตามเงื่อนไขที่เราต้องการ win/win ตรงกันข้ามกับนิสัยเอารัดเอาเปรียบคนอื่น หรือวิธีคิดตายตัวว่า ถ้าฉันถูก-เธอต้องผิด ถ้าเธอได้ประโยชน์-ฉันต้องเสียประโยชน์ การคิดแบบ win/win นี่เองที่เป็นพื้นฐานของการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เป็นปัจจัยให้เราเป็นที่เคารพ ชื่นชอบของคนรอบข้าง เป็นสิ่งที่จะทำให้เราเป็นนักเจรจา นักการขายที่ประสบความสำเร็จ และจะทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับคนทุกประเภทรวมทั้งบุคคลในครอบครัวมีความราบรื่น เป็นสุข คนเราพอมีความไว้วางใจกัน จะพูดจาผิดหูไปบ้าง ทำอะไรผิดไปบ้าง อีกฝ่ายก็พร้อมที่จะรับฟังและให้อภัย

5. หัดเข้าใจคนอื่น ก่อนที่จะเรียกร้องให้คนอื่นมาเข้าใจตน

การสื่อสารเป็นทักษะที่มีความสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งใน การดำเนินชีวิตแต่มนุษย์ 90 เปอร์เซ็นต์ ในโลกต่างก็เข้าใจผิดคิดว่า communication skills คือความสามารถในการพูด การให้ความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ แต่ลืมไปว่า communication skills ที่สำคัญประการ หนึ่งคือ "การฟัง" เมื่อกล่าวเช่นนี้ หลายคนจะต้องสงสัยในทันทีว่า มีใครที่ไหนจะไม่รู้จักการฟัง แต่การฟังที่ Covey หมายถึง คือ ฟังให้รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งคิดอะไร มีความต้องการอะไร มีปัญหาอะไร มีความรู้สึกตอนพูดอย่างไร คนเรามี tactic ในการฟังหลายประเภท เช่น แกล้งทำเป็นฟัง แต่คิดเรื่องอื่น ในขณะทำเป็นตั้งใจฟังใจก็คิดว่าเราจะพูดโต้ตอบอย่างไร แต่การฟังที่ดี จะต้องอาศัยการทำงานของทั้งสมองด้านซ้าย และสมองด้านขวา ใช้สมองด้านซ้ายฟัง เพื่อเก็บข้อมูลที่เป็นคำพูดใช้สมองด้านขวาฟัง เพื่อหยั่งความรู้สึก ความต้องการลึก ๆ ของอีกฝ่าย การฟังที่ถูกวิธีจะทำให้เราหลีกเลี่ยงแนวโน้มที่จะเอาความคิด ความรู้สึกของตนเองเป็นที่ตั้ง โดยคิดเอาเองว่ามนุษย์คนอื่นเขา ก็คิดเหมือนเรา และยังทำให้เราสามารถให้คำแนะนำ ตีความ แก้ปัญหาให้คนอื่น ๆ อย่างตรงกับความต้องการ และความรู้สึกของอีกฝ่ายจริง ๆ ที่คนเราขัดแย้งกัน ก็เพราะไม่เข้าใจความคิด ความรู้สึกของกันและกัน ดังนั้น การตั้งใจฟังจะช่วยสร้างความเข้าใจและความสมานฉันท์ระหว่างกันได้

6. การยอมรับความแตกต่างของคนอื่น


นิสัยการยอมรับความแตกต่างของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางความคิด นิสัยใจคอ เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ คนเราสามารถทำงานร่วมกัน ได้เป็นทีม ขณะนี้ใน Business School ทั่วอเมริกามีการจัดระบบการทำงานของนักศึกษา ให้ทำรายงานเป็นทีม เสนอ presentation เป็นทีม และมีกำหนดการให้นักศึกษาไปทำการบ้านร่วมกันเป็นทีม เพื่อปลูกฝังนิสัยสามารถ ทำงานร่วมกับคนอื่นให้กับนักธุรกิจ รุ่นใหม่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ คนอเมริกันมีความเชื่อในเรื่อง Synergy หรือการที่พลังความคิดของคน 2 คน รวมกันแล้วจะได้ผลดีกว่าให้คน 2 คน ไป ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำงาน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในสูตรคณิตศาสตร์ปรกติแล้ว 1+1 เท่ากับ 2 แต่ในสูตรของ synergy นั้น 1+1 มากกว่า 2 เสมอ และยิ่งเมื่อสามารถทำงานกันเป็นทีมหลาย ๆ คน ผลลัพท์ที่ได้ก็จะยิ่งใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบมากขึ้น

7. นิสัยการแบ่งเวลาเพื่อใช้ในการฟื้นฟูพลังชีวิต

มนุษย์ เราที่ประกอบกิจการต่าง ๆ จนประสบผลสำเร็จได้ ก็เพราะใช้พลัง 4 ประการคือ พลังกาย พลังใจ พลังความคิด และพลังจิต พลังเหล่านี้ มีอยู่ก็หมดไปได้ หรือถึงจะมีอยู่มาก แต่คนอื่นก็อาจจะก้าวตามทัน หรือแซงหน้าเราไปได้ ทำให้เราอาจจะประกอบการงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม หรือทำได้เหนือคนอื่นอีกต่อไป ดังนั้น Covey จึงเน้นให้คนเรารู้จักฟื้นฟูพลัง ดังนี้ พลังกาย ฟื้นฟูด้วยการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ดูแลสุขภาพและออกกำลังกาย พลังใจ คือใช้เวลาพัฒนาความสัมพันธ์กับสมาชิก ครอบครัว เพื่อนฝูงบ้าง อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์กับคนเหล่านี้เกิดปัญหาให้เราต้องมาตามแก้ในภายหลัง และเพื่อให้เราได้รับความรัก ความเอื้ออาทร และความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง อย่าลืมว่ามนุษย์เราอยู่ในสังคมที่พึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีใครมีชีวิตอยู่คนเดียวได้ในโลก พลังความคิด คือการหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อก้าวให้ทันโลก และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน พลังจิต คือหมั่นแสวงหาความรู้ที่นำมาซึ่งความสงบภายในหรือหมั่นทำสมาธิภาวนาบ้าง เพื่อให้จิต มีกำลังแข็งแกร่ง รับสภาพต่าง ๆ ได้ในทุกสถานการณ์


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

Copyright © ไอเดียชีวิต Design by O Pregador | Blogger Theme by Blogger Template de luxo | Powered by Blogger